วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552

เสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ดีอยู่เสมอ


ความจริงข้อหนึ่งที่ไม่ควรลืมคือ อายุที่มากขึ้นจะทำให้ระบบภูมิต้านทานทำงานน้อยลง ระบบการต่อต้านการติดเชื้อเสียไป เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมบุกรุกเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่บั่นทอนระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การขาดอาหาร นอนไม่พอ ไม่ออกกำลังกาย ลดน้ำหนักจนกลายเป็นโยโย โรคมะเร็ง การผ่าตัดใหญ่ และอาการบาดเจ็บรุนแรง

ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราประกอบไปด้วยเซลล์มากมายหลายชนิด แอนตี้บอดีและโปรตีนซึ่งต้องทำงานอย่างแอคทีฟอยู่ตลอดเวลาเพื่อปกป้องร่าง กายจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพยาธิหรือบรรดากาฝากในร่างกาย ทั้งยังช่วยป้องกันโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง ข้ออักเสบ

วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ สังกะสี ซีลีเนียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ บี 6 ซี อี และกรดโฟลิก จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน สารอาหารเหล่านี้เปรียบเสมือนคันบังคับลิ้นที่ควบคุมน้ำมันในเครื่องยนต์ ถ้าขาดสารอาหารเพียงตัวใดตัวหนึ่งไปแม้เพียงเล็กน้อยจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน รวนเรได้

แต่สารอาหารบางอย่างถ้าเสริมมากไปก็จะยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้ เท่าๆ กับผลจากการขาด ตัวอย่างเช่น สังกะสีช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ความต้องการสังกะสีเพียงวันละ 15 มิลลิกรัมแต่บางคนเสริมสังกะสีวันละ 300 มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับ 20 เท่าของความต้องการประจำวัน จึงมีผลไปลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้

สารอาหารหลักสำหรับระบบภูมิคุ้มกันมีดังนี้

  • วิตามิน เอ ช่วยผลิตเม็ดเลือดขาว สร้างเซลล์บุเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบย่อย ซึ่งเซลล์เหล่านี้เป็นด่านแรกในการป้องกันการติดเชื้อ
  • วิตามิน ซี เพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาว มีงานวิจัยหลายรายงานที่พบว่า วิตามินซีอาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของการเป็นหวัด แม้ไม่สามารถป้องกันหวัดได้แน่นอน แต่ก็ลดระดับสารอนุมูลอิสระและสารฮิสตามีน (histamine) ซึ่งทำให้เกิดอาการคัดแน่นจมูกได้
  • วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันระบบภูมิคุ้มกันจากอนุมูลอิสระ และอาจช่วยสร้างเม็ดเลือดขาวในการป้องกันเชื้อแบคทีเรีย
  • ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบสำคัญของเอ็นไซม์มากมายในร่างกาย ช่วยในการฆ่าเชื้อ หากขาดธาตุเหล็กจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย
  • ซีลีเนียม ช่วยสร้างแอนตี้บอดีและเอ็นไซม์ซึ่งป้องกันระบบภูมิคุ้มกัน แต่ถ้าเสริมมากเกินไป (4 เท่าของระดับที่แนะนำ ) จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสียได้
  • สังกะสี จำเป็นต่อการทำงานที่ละเอียดอ่อนของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัส เชื้อรา พยาธิและเชื้อโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ
  • วิตามิน และแร่ธาตุรวม มีงานวิจัยรายงานว่าการเสริมเพียงวันละเม็ดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการผ่าตัด จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และลดการเจ็บป่วย 17 วัน / ปี คำเตือนคือ ควรเสริมในระดับ 100% ของความต้องการประจำวัน

สารอาหารอื่นๆ มีการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า สารพฤกษาเคมีชื่อ อะพิจีนีน (apigenin) พบมากใน ซาเลอรี ช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบในเลือด ลดภาระของระบบภูมิคุ้มกันในหนูทดลอง งานวิจัยในสัตว์ทดลองของนักวิจัยชาวฝรั่งเศสและสเปนพบว่า สารพฤกษเคมีประเภทสารโพลีฟีนอล ที่พบในจมูกข้าวสาลีและบักวีท ( เมล็ดพืชชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ) ช่วยฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันที่อืดลงให้ทำงานดีขึ้น ทั้งยังเชื่ออีกว่าอาหารที่ให้สารอาหารหลักและพฤกษเคมี จะช่วยชะลอความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกันที่มากับวัย ช่วยให้มีสุขภาพดีขึ้นทั้งที่วัยมากขึ้น

อาหารไขมันดีอย่างไร

ไขมันให้ประโยชน์หรือโทษเพียงไรกับระบบภูมิคุ้มกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณของกรดไขมันชนิดต่างๆ ในน้ำมัน นักวิจัยแนะนำว่า กรดโอเมก้า 6 ซึ่งพบในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันข้าวโพด ดอกคำฝอย ถั่วเหลือง เมล็ดดอกทานตะวัน เป็นต้น ถ้าใช้มากเกิน อาจจะเพิ่มการอักเสบและยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโพไซต์ (lymphocytes) ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

ในทางกลับกัน กรดโอเมก้า 3 หรือน้ำมันปลา ซึ่งพบมากในปลาแซลมอนและปลาทูน่า ส่วนในพืชพบมากในเมล็ดแฟลกซีดและวอลนัท อาจเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและยับยั้งการอักเสบได้ งานวิจัยพบว่าโอเมก้า 3 สามารถเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจ (macrophages) ซึ่งช่วยในการดักจับและทำลายเซลล์แปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เพิ่มภูมิคุ้มกัน

นอกจากอาหารและการเสริมวิตามินรวมทุกวัน ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอื่นๆ ที่อ้างในการช่วยต้านการติดเชื้อ เช่น แอสทรากาลัส (astragalus) ซึ่งเป็นสมุนไพรจีนที่นักวิจัยพบว่า ช่วยสร้างสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองที่ถูกทำลายจากโรคมะเร็ง แต่กับคนยังไม่มีข้อมูลยืนยัน

เอ็ดไคนาเซีย มีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่า มีส่วนช่วยการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เซลล์ที่ทำหน้าที่ทำลายเชื้อบุกรุกร่างกาย (natural killer cells) การวิจัยในคนพบว่า ลดระยะเวลาการเป็นหวัดแต่ไม่ป้องกัน ในประเทศเยอรมันใช้เป็นยาต่อต้านหวัด

พรีไบโอติกส์ ใช้เติมลงในผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต สารพรีไบโอติกส์ ได้แก่ อินนูลิน ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ ช่วยควบคุมองค์ประกอบของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ลิมโฟไซต์และแอนติบอดี

อินนูลิน ใยอาหารธรรมชาติพบในเมล็ดพืชไม่ขัดสี ทำงานเป็นสารพรีไบโอติกส์ในลำไส้ เสริมสร้างแบคทีเรียที่ดี การวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในหลายๆ ส่วน แต่ในคนยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน

สำหรับวิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ดีและปลอดภัยในชีวิตประจำวันคือ บริโภคผักผลไม้วันละ 5-9 ส่วน ธัญพืชไม่ขัดสีวันละ 2-3 ส่วน เนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือถั่วเหลือง เพื่อเสริมสังกะสี

หากรู้จักใส่ใจเลือกชนิดและปริมาณอาหารให้ถูกต้อง จะช่วยชะลอความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกันที่มากับวัย ส่งผลให้คุณและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นอีกด้วยค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: